บทความวิจัย



นวัตกรรม 0 บาท เพื่อพัฒนางานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก 0-5 ปี  The Innovation 0 Bath for Development of Service System on Immunization in Children Aged 0-5 years

ปุณณดา ผลาทิพย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานบริการด้านปฐมภุมิและองค์รวม โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี
    ประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่10 16-18 มีนาคม 2565. เมืองยาง. นครราชสีมา. (2565)

บทคัดย่อ/Abstract


การศึกษานี้เป็นการพัฒนาระบบการให้บริการวัคซีนของงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก 0-5 ปี ที่มารับบริการฉีดวัคซีนในคลินิกสุขภาพเด็กดี โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา วัตถุประสงค์คือ 1)เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการวัคซีนให้มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 2)เพื่อลดอัตราการสูญเสียวัคซีน 3)เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็ก 0-5 ปี โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการวัคซีนคำนึงถึงการบริหารทรัพยากรวัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยวิธีการดังนี้ 1)จัดตารางระบบการให้บริการวัคซีนแบบใหม่โดยกำหนดให้บริการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ละสัปดาห์ให้บริการวัคซีนต่างกัน โดยทำการนัดผู้รับบริการในช่วงอายุเดียวกันหรือประเภทเดียวกันมารับวัคซีนในวันเดียวกัน คือ วันพุธสัปดาห์ที่ 1 ฉีดวัคซีน DTP-HB-Hib, OPV เด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน, สัปดาห์ที่ 2 ฉีดวัคซีน MMR เด็กอายุ 9 เดือน,สัปดาห์ที่ 3 ฉีดวัคซีน JE เด็กอายุ 1, 2.6 ปี และสัปดาห์ที่ 4 ฉีดวัคซีน DTP,OPV เด็กอายุ 1.6, 4 ปี ซึ่งแตกต่างจากระบบเดิมที่ให้บริการวัคซีนทุกชนิดทุกช่วงอายุในวันเดียวกันทั้งหมด 2)ประชาสัมพันธ์เรื่องตารางระบบการให้บริการวัคซีนแบบใหม่เพื่อให้ผู้รับบริการมาตรงวันเปิดให้บริการ 3)ทำการนัดผู้รับบริการให้ตรงวันให้บริการวัคซีนตามช่วงอายุ และ 4)กำหนดระบบกำกับติดตาม

ผลการศึกษาเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงกันยายน 2563 ดำเนินการเก็บข้อมูลจากการมารับบริการวัคซีนในคลินิกสุขภาพเด็กดี ตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายวัคซีน และสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง พบ 1)อัตราการสูญเสียวัคซีนลดลงจากเดิม 2)อัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็ก 0-5 ปี ร้อยละ 100 จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ด้านอื่น คือ 1)ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่คลินิกสุขภาพเด็กดี เพราะเป็นการกระจายการมารับบริการทำให้มีผู้มารับบริการต่อสัปดาห์ลดลง 2)ป้องกันการเกิดอุบัติการณ์การฉีดวัคซีนผิด ซึ่งไม่พบอุบัติการณ์นั้นในเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ เพราะเป็นวัคซีนชนิดเดียวกันและมีชนิดวัคซีนเปิดใช้น้อยลง 3)สะดวกในการเบิกจ่ายวัคซีน มีจำนวนผู้มารับบริการที่แน่ชัด 4)การให้สุขศึกษาง่ายขึ้นเพราะเป็นผู้รับบริการกลุ่มวัยเดียวกัน นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องคือ ภาระงานของกลุ่มงานทันตกรรมในการตรวจสุขภาพช่องปากลดลง ส่วนกลุ่มงานเภสัชกรรมมียอดเบิกจ่ายวัคซีนลดลง และผู้ปกครองของเด็กที่มารับบริการมีความพึงพอใจร้อยละ 100 โดยส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าสะดวก รวดเร็ว คนไม่เยอะ ไม่ต้องรอนาน

สรุปผลจากการพัฒนาระบบการให้บริการวัคซีนของงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก 0-5 ปี ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลไปยังกลุ่มงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผู้รับบริการพึงพอใจ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการให้บริการวัคซีนที่มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ถือเป็นการบริหารทรัพยากรวัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นการพัฒนาระบบการให้บริการวัคซีนนี้ สามารถนำไปประยุกต์ในการจัดระบบบริการอื่นได้


คำสำคัญ : วัคซีน, สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

อ้างอิง


กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคปี 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัทเวิร์ค พริ้นติ้ง จำกัด.: 2562.



ณปภา ประยูรวงษ์ และมารุต ภู่เพนียด. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อายุของเด็กปฐมวัย ตำบลกระจัน อำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี. วารสารสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2562;2:43-53.



พรศักดิ์ อยู่เจริญ, ปิยะนาถ เชื้อนาค, ขัตติยะ อุตม์อ่าง, จารวี รัตนยศ. ผลกระทบของอัตราสูญเสียวัคซีนต่อการบริหารจัดการวัคซีนและตารางการให้บริการวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค: กรณีศึกษาวัคซีน DTP, DTP-HB, และ DTP-HB-Hip. วารสารควบคุมโรค 2564;47:230-245.



ศุภานิช ธรรมทินโน. การพัฒนาระบบติดตามความครอบคลุมในการรับวัคซีนเด็ก 0-5 ปีในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา. วารสารสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2561;1:62-69.



อีระฟาน หะยีอีแต และประภาภรณ์ หลังปูเต๊ะ. รูปแบบการส่งเสริมความครอบคลุมของวัคซีนในเด็ก 0-5 ปี จังหวัดยะลา. วารสารอัล-ฮิกมะฮ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2563;20:137-148.

ดาวน์โหลด