บทความวิจัย



นวัตกรรมคุณแม่เมืองยาง  The innovation of Care for Pregnant woman In Mueangyang District

ปุณณดา ผลาทิพย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานบริการด้านปฐมภุมิและองค์รวม โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี
    รางวัลชมเชย ประเภทโปสเตอร์ maternal and child health มหาวิทยาลัยเทคโนสุรนารี 2565. เมืองยาง. นครราชสีมา. (2565)

บทคัดย่อ/Abstract


บทนำ องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์คุณภาพอย่างน้อย5 ครั้งและฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ ซึ่งจะได้รับการคัดกรองความผิดปกติและดูแลต่อเนื่องสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนลดอัตราตายของมารดาและทารกได้ ประกอบกับมีการระบาดของไวรัสโคโรนา2019ในประเทศไทย ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์มารับบริการน้อยลง จากการทบทวนข้อมูลงานฝากครรภ์ รพ.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมาพบว่าในปีพ.ศ.2561-2563 หญิงตั้งครรภ์มีอัตราการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ร้อยละ 67.2, 65.25 และ50.5 ตามลำดับ(เป้าหมาย>ร้อยละ60) ส่งผลให้อัตราการฝากครรภ์คุณภาพครบ 5 ครั้งมีเพียงร้อยละ 73.5, 70.25 และ 65.5 ตามลำดับ (เป้าหมาย ≥ ร้อยละ75) ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา วิเคราะห์ปัญหาพบว่าไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ระยะทางไกล คนเยอะ ดังนั้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 งานฝากครรภ์ รพ.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 100 ปี จึงได้พัฒนานวัตกรรมคุณแม่เมืองยางขึ้น

วิธีการ เริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2564 โดยใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน มี 4 ขั้นตอนดังนี้ 1) ศึกษาสถานการณ์ค้นหาปัญหาโดยการประชาคมในหมู่บ้าน สนทนากลุ่ม พร้อมทั้งสัมภาษณ์หญิงตั้งครรภ์และครอบครัว 2) คืนข้อมูลจัดทำแผนปฏิบัติการโดยสะท้อนปัญหา ระดมสมองหาแนวทางแก้ไขร่วมกับชุมชนโดยมีหญิงตั้งครรภ์ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และสมาชิกสภาเทศบาล

3) ปฏิบัติตามแผนโดย 3.1) จัดทำนวัตกรรมชุดตรวจการตั้งครรภ์สำหรับอสม.พร้อมคู่มือโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนตำบล 3.2) พัฒนาศักยภาพอสม.สอนตรวจการตั้งครรภ์และแปรผลและการให้คำปรึกษา 3.3) แต่งตั้งอสม.ดูแลประจำครัวเรือน 3.4) มีจุดให้บริการตรวจการตั้งครรภ์ในหมู่บ้าน 3.5) ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ติดป้ายตามแหล่งชุมนุมเรื่องข้อดีของการฝากครรภ์เร็ว 3.6) มีไลน์กลุ่มในการประสานงานและให้คำปรึกษา 3.7) แจ้งรายชื่อตามนัดล่วงหน้า ติดตามด้วยอสม.และโทรศัพท์ และ 4) ประเมินผล ทบทวนการดำเนินงาน ในการประชุมประจำเดือน สรุปบทเรียนกับเวทีอำเภอ

ผลการดำเนินงาน เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 พบว่า อัตราการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.5 ส่วนอัตราการฝากครรภ์คุณภาพครบ 5 ครั้งต้องมีการติดตามต่อไปจนถึงระยะคลอด อีกทั้งยังเกิดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ประจำอำเภอ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอเมืองยาง (พชอ.) คือ มหัศจรรย์ 1,000 วันอำเภอเมืองยางขึ้น

บทสรุปการเรียนรู้ การใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม ชุมชนเกิดความตระหนัก เกิดเครือข่ายในการทำงาน สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่ นำมาซึ่งนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอที่ส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน


คำสำคัญ : หญิงตั้งครรภ์

อ้างอิง


กาญจนา ศรีสวัสดิ์, ชุติมา ปัญญาพินิจนุกูร, ณัฐธิดา สอนนาค. พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ 2561;2:95-109.



กิตติ วงศ์ปทุมทิพย์. การมีส่วนร่วมของอาสาสมัครประจำหมู่บ้านในการป้องกันและควบคุมโรค อำเภอดอนตูม จ.นครปฐม. สำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 7 ขอนแก่น 2560;2:59-67.



ทิพวรรณ์ โพธิ์ดา, รุ่งรัตน์ ศรีสุริยะเวช, พรนภา หอมสินธุ์. ปัจจัยสาเหตุของการฝากครรภ์ครั้งแรกล่าช้าของหญิงวัยรุ่นในชุมชน. วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ 2562;2:180-189.



สิมาภรณ์ กล่อมยงค์ และวรรณี เดียวอิศเรศ. ปัจจัยที่มีผลต่อการฝากครรภ์คุณภาพของหญิงตั้งครรภ์. วารสารวิทยาลัยพระปกเกล้าจันทบุรี 2563;2:41-56.



อารีย์ พุ่มประไวย์, ชุติมา ปัญญาพินิจนุกูร, กรพินท์ ฤทธิบุตร. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์. วารสารพยาบาลสาธารณสุข2561;3:37-50.



ดาวน์โหลด